top of page

“5 เทคนิคในการสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้งานสำเร็จเร็วขึ้น”




ในการทำงานใดๆก็ตามความร่วมไม้ร่วมมือก็เป็นสิ่งจำเป็นอยู่แล้ว ซึ่งคนที่ร่วมมือกันได้ดีก็อาจจะมีผลงานที่ดี ใครที่ไม่ค่อยร่วมมือผลงานก็อาจจะด้อยลงไป ดังนั้นสิ่งที่เราควรพิจารณาในเรื่องของ “ความร่วมมือ” นั้นผมมองว่าเรา “ต้องร่วมมือเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่” ที่มันโดดเด่น ดีกว่า เจ๋งกว่าของเดิมที่มีอยู่ เมื่อนั้นการร่วมไม้ร่วมมือจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมาทันที


จากประสบการณ์ที่เคยเป็นผู้บริหารของบริษัทข้ามชาติที่ต้องวัดกันที่ผลงานและมีโอกาสทำงานร่วมกับทั้งคนไทยและต่างชาติที่ส่งมาจากบริษัทแม่ ผมพบว่าการที่จะทำให้โปรเจกต์บางอย่างสำเร็จขึ้นมาได้จำเป็นต้องใช้ความร่วมไม้ร่วมมือจากคนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในระนาบเดียวกันและต่างระนาบเพื่อให้เกิดความสำเร็จของโปรเจค


จึงอยากจะแชร์ประสบการณ์จากการทำงานที่ตัวเองเห็นทั้งจากงานที่ทำสำเร็จและจากงานที่เห็นว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ว่ามันมีองค์ประกอบอะไรบ้างอาจจะเรียกว่า “ทางสำเร็จเร็ว”​หรือ “ทางล้มเหลว” ของความร่วมมือก็ได้ครับ


“ประเด็นแรก” เลยก็คือการที่เราต้องมี “วิสัยทัศน์ชัดเจน”​ (clear vission) เป็นอันดับแรก เราทำโปรเจ็คนี้ทำไม ทำไปเพื่ออะไรมีใครได้ประโยชน์และมันจะส่งผลต่อธุรกิจและอนาคตของพนักงานยังไงถ้าเราโชว์ตรงนี้ได้งานก็สำเร็จไปแล้ว 50% ให้สังเกตไว้เลยว่างานไหนก็ตามที่ไม่รู้ว่าทำไปทำไมทำไปเพื่ออะไรและใครได้ประโยชน์บ้างมักจะไม่มีการขยับเขยื้อนไปไหนมักจะค้างๆคาๆอยู่เช่นนั้น หรือที่เรียกว่าแค่เริ่มต้นก็ล้มเหลวแล้วนั่นเอง


“ประเด็นที่สอง” ที่ต้องเริ่มเลยก็คือ “เริ่มทำจากเล็ก" (start from small pieces) จากภาพใหญ่นั้นเรามีอะไรเริ่มทำได้บ้างเอาที่เริ่มทำได้เลยนะไม่ต้องให้ทุกคนมาทำพร้อมกัน เพราะมิเช่นนั้น โอกาสที่จะสำเร็จเป็นไปได้ยากมากๆ ผมเคยทำโปรเจ็คหนึ่งซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของทางบริษัทซึ่งมันยุ่งยากและซับซ้อนมาเป็นเวลานานแล้วให้มันง่ายขึ้นอย่างเช่นระบบ ISO โดยเป้าหมายก็คือทำให้ระบบประเมินคุณภาพกับระบบตรวจสอบสามารถอยู่ด้วยกันได้โดยใช้เอกสารชุดเดียวซึ่งจะลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนได้มหาศาลเลยทีเดียว สิ่งที่ผมเริ่มทำก่อนเลยก็คือการไปดูว่าอะไรที่สามารถเอาทิ้งไปเลยได้ไหมหรือมันไม่มีความจำเป็นตัดออกได้ก่อนไหมซึ่งพอเริ่มแบบนี้แล้วมันง่ายครับเริ่มได้ทันที ในขณะเดียวกันทางบริษัทแม่ก็เริ่มโปรเจคที่จะเปลี่ยนแปลงระบบเช่นเดียวกันแต่มันเป็นระบบที่ใหญ่มากต้องเปลี่ยนแปลงทั้งภูมิภาคเอเชียมันเลยกลายเป็นโปรเจคที่ทุกคนต้องประชุมพร้อมหน้าพร้อมตาและเริ่มทำงานพร้อมพร้อมกันในคราวเดียวคราวนี้ครับก็เกิดปัญหาขึ้นแล้วเพราะว่าในแต่ละประเทศมีปัญหาไม่เหมือนกันมีความสามารถหรือรูปแบบ ธุรกิจที่ไม่เหมือนกันทำให้กว่าจะจูนตรงกันได้ใช้เวลาถึงหนึ่งปีแค่เริ่มต้นก็เห็นแววหายนะแล้วใช่ไหมครับ


ดังนั้นจากประสบการณ์ของผมจึงพบว่าเมื่อเราเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆก่อนมันจะสามารถพาเราไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมเยอะหน่อย



“ประเด็นที่สาม” “รบกวนคนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด” (Less disturb) ในการขอความร่วมมือใดๆก็ตามที่จะทำให้โปรเจ็คประสบความสำเร็จมันต้องเริ่มจากการที่โปรเจ็คนั้น ต้องอย่าสร้างความยุ่งยากหรือเพิ่มภาระงานให้เขา เพราะปกติคนเรานั้นไม่ค่อยชอบงานที่อยู่นอกเหนือการมอบหมายซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเขา ณ ตอนนี้และก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอยากทำนู่นทำนี่ตลอดเวลา


วิธีที่ผมใช้ก็คือว่าผมเริ่มเจาะรายคนว่าผมต้องแก้ที่ตรงไหนก่อนและขอเวลาเขานิดหนึ่งโดยการเตรียมข้อมูลไปก่อนว่าเราต้องการอะไรจากเขา แต่ไม่ใช่เรียกเค้ามาประชุมเพื่อรับฟังปัญหาไปพร้อมๆกันซึ่งบางงานก็ไม่เกี่ยวข้องกับเขาและคุณก็น่าจะรู้นะครับเวลาประชุมเรื่องปัญหาเนี่ยกินเวลานานมากเพราะปัญหามนุษย์เรามันมีร้อยแปดพันเก้า ซึ่งนี่ก็คือข้อผิดพลาดที่บริษัทแม่ได้เริ่มทำนั่นก็คือเอาทุกประเทศ มานั่งคุยถึงปัญหาและแน่นอนว่าเป็นไปดังที่คิดเพราะปัญหามันเยอะมากแค่รวบรวมปัญหาเนี่ยใช้เวลาเป็นปีเลยครับและอีกอย่างรบกวนเวลาคนทำงานมากเพราะบางเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องกับเขาเลย คนเวลามันไม่อินแล้วตอนนี้ก็อย่าหวังเลยว่าจะได้รับความร่วมมือ


“ประเด็นที่สี่”​ แล้วคนร่วมมือทำ “เขาจะได้ประโยชน์อะไร” (What’s in it for me) อันนี้สำคัญมากๆเช่นเดียวกันในการผลักดันหรือการทำงานใดๆก็ตามที่เป็นโปรเจคคนต้องเห็นประโยชน์ว่าไอ้สิ่งที่ทำอยู่เนี่ย “มันเป็นประโยชน์สำหรับเขา” เขาทำแล้วเขาจะได้อะไร ไม่ใช่เจ้าของโปรเจคได้ประโยชน์อยู่คนเดียวเพราะมันจะทำให้เขาเกิดความรู้สึกอยากร่วมไม้ร่วมมือทำให้โปรเจ็คนี้ให้สำเร็จขึ้นมาด้วย


สิ่งที่ผมทำก็คือผมก็เดินสาย promoteประโยชน์เลยครับว่าถ้า โปรเจ็คนี้เสร็จลงแล้วเขาจะได้ประโยชน์อะไร มันดีกับเขายังไงและดีแบบเฉพาะเจาะจงด้วยนะ ไม่ใช่วิธีแบบทั่วไป คนส่วนใหญ่ครับก็มักจะชอบเรื่องสบายขึ้นง่ายขึ้นปวดหัวน้อยลงประหยัดเวลาอะไรทำนองนี้ถ้าเราไม่ทำให้เขาเห็นถึงประโยชน์ตรงนี้โอกาสที่เขาจะร่วมมือกับเราแทบเป็นไปไม่ได้เลยครับซึ่งแน่นอนครับว่าบริษัทแม่ไม่ทำเช่นนี้ แต่บอกแค่ว่าบริษัทเราจะได้อะไรในขณะเดียวกันมันไม่ลงมาถึงคนที่ทำงานว่าจะได้อะไรหรือ จะมีประโยชน์อะไรอาจจะเป็นเพราะการสื่อสารที่ไม่ดีก็ได้ทำให้โปรเจ็คจากบริษัทแม่ไม่ได้รับความสนใจและคนก็ไม่อยากให้ความร่วมมือแค่เข้าร่วมประชุมตามหน้าที่เท่านั้น


“ประเด็นสุดท้าย” เลยที่ผมว่าโปรเจ็คจะไปได้เร็วได้ช้าได้รับความร่วมมือมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่าเรา “ใช้ใครเป็นคนทำโปรเจค” (put the right man) นี้สำหรับผมนะครับงานที่ต้องติดต่อประสานงานกับผู้คนเราก็ต้องเลือกใช้คนซึ่งไปประสานงานเก่งไม่ใช่ประสานงาเก่ง รวมถึงต้องมีลูกล่อลูกชนด้วย เรียกว่าต้องมีมนุษยสัมพันธ์ดีอ่อนน้อมถ่อมตนนิดนึงส่วนงานที่ต้องลงเชิงเทคนิคเราก็ใช้คน ที่เค้าเก่งเทคนิคมาช่วยทำแน่นอนครับว่าความร่วมมือมันเกิดขึ้นง่ายมากในขณะเดียวกันโปรเจคจากบริษัทแม่คนที่นำโปรเจ็คนั้นเป็นคนที่ไม่แสวงหาความร่วมมือแต่แสวงหาผลลัพธ์ แน่นอนครับเค้าก็จะเน้นแต่ผลลัพธ์แต่ไม่ได้เน้นความรู้สึกของผู้คนและจะมีคนที่ไหนล่ะมาช่วยเค้าทำงาน แค่นี้เราก็เดาได้แล้วใช่ไหมครับว่าความสำเร็จของโปรเจ็คนี้มีแนวโน้มจะเป็นยังไง


นี่แหละครับคือบทสรุปที่ผมพอสรุปได้ว่าในการที่จะสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างผลลัพธ์ใหม่ๆในงานต่างๆมันจะต้องมีทางที่ใช้ได้และทางที่ยังใช้ไม่ได้ผลซึ่งก็คือ “ทางสำเร็จเร็ว” และ “ทางล้มเหลว” นั่นเอง ถ้าเราเอาไปประยุกต์ใช้แน่นอนครับว่าความสำเร็จก็อาจจะเกิดเร็วขึ้น คุณผู้อ่านล่ะครับ คิดเห็นอย่างไรก็มาร่วมแชร์ประสบการณ์กันได้นะครับ



โค้ชเพียว

ดร. วีรพงษ์ ศรัทธาผล

FB: Weerapong Sattaphon

Page: Coach Pure

E-mail: weerapong@codeofsuccess.co.th

ดู 41 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page